การเงิน

ไทยสมุทร มั่นใจสิ้นปีเบี้ยประกัน

ไทยสมุทร มั่นใจสิ้นปีเบี้ยประกันโต 5% แข่งเดือด Q4 แย่งวอลุ่มใหญ่ปลายปี

ไทยสมุทรประกันชีวิต มั่นใจสิ้นปี ’65 เบี้ยประกันโต 4-5% แข่งเดือดไตรมาส 4/65 แย่งวอลุ่มใหญ่ปลายปี รับเทรนด์ “ลดหย่อนภาษี-เป้าหมายผลงานฝ่ายขาย” ด้าน “นุสรา” ปลื้ม 7 เดือนแรกกวาดกำไร 1,013 ล้านบาท พอร์ตลงทุนปั้นผลตอบแทนแตะ 5.12% ยอดขายเครดิตไลฟ์พุ่ง จับจังหวะดอกเบี้ยกระเด้งขึ้นออกสินค้าจำนวนจำกัดแมตชิ่งลงทุน เดินหน้าขยายสินค้าประกันชีวิตและสุขภาพ ทยอยลดพอร์ตประกันออมทรัพย์ตามแผน

วันที่ 13 กันยายน 2565 นางนุสรา (อัสสกุล) บัญญัติปิยพจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บมจ.ไทยสมุทรประกันชีวิต หรือ Ocean Life เปิดเผยว่า ประเมินภาพการแข่งขันในธุรกิจประกันชีวิตช่วงไตรมาส 4/65 จะค่อนข้างแข่งกันดุเดือดแน่นอน เพราะปลายปีเป็นซีซั่น High Growth ที่สุด ที่จะมีวอลุ่มเบี้ยก้อนใหญ่เข้ามา
เหตุผลคือผู้บริโภคจะมีการซื้อประกันเพื่อหักลดหย่อนภาษี และมีเป้าหมายผลงานของฝ่ายขายในทุกบริษัท เพราะทุกคนห่วงเป้ารายได้ (Top Line) และห่วงส่วนแบ่งการตลาด (Maket Share) แต่อย่างไรก็ตาม อาจจะต้องมีสมดุลของความยั่งยืนอยู่ด้วย แต่ทั้งนี้การแข่งขันที่เกิดขึ้นท้ายที่สุดแล้วก็ล้วนเป็นผลดีกับผู้บริโภคที่จะมีตัวเลือกที่มาก

นุสรา

โดยแผนการขับเคลื่อนธุรกิจช่วงที่เหลือของปี 2565 ต่อเนื่องปี 2566 คงจะมุ่งเน้นการขายสินค้าประกันชีวิต (Protection) ประกอบด้วย ประกันชีวิตแบบตลอดชีพ และประกันชีวิตแบบชั่วระยะเวลา รวมไปถึงสัญญาเพิ่มเติมประกันสุขภาพและอุบัติเหตุ คือพูดง่าย ๆ พยายามหันมาเน้นขายสินค้าที่ให้ความคุ้มครองมากกว่าสินค้าออมทรัพย์ที่มีความอ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย

แม้ยอมรับว่าผู้บริโภคอาจจะยังมีความต้องการซื้อประกันสะสมทรัพย์อยู่ ทำให้บางจังหวะก็อาจจะยังมีการออกขายประกันออมทรัพย์อยู่บ้าง แต่ทำอย่างระมัดระวัง โดยต้องแมชชิ่งกับการลงทุนให้เรียบร้อย และจำกัดวอลุ่มในการขาย โดยตั้งเป้าเบี้ยประกันชีวิตรับรวมสิ้นปีนี้จะเติบโตระหว่าง 4-5% เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY)
“ยอมรับว่าช่วงต้นปีเติบโตได้ค่อนข้างยาก เพราะจากภาวะเศรษฐกิจค่อนข้างกระทบต่อกำลังซื้อประกันชีวิตของประชาชน เนื่องจากคนจะมองความสำคัญของสิ่งที่จำเป็นก่อน เช่น อาหารการกิน, บ้านที่อยู่อาศัย ฉะนั้น จึงมีผลต่อความสามารถในการซื้อประกัน แต่ก็อย่าลืมว่าจะมีคนที่มีเงินกลุ่มหนึ่งซึ่งต้องการประกันสุขภาพ ที่ยังไม่ได้ซื้อและมองหา ซึ่งยังมีวอลุ่มตรงนี้เข้ามาอยู่”

กำไรทะลุพันล้าน ยีลด์ลงทุนพุ่ง 5.12%
โดยผลการดำเนินงานในรอบ 7 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-ก.ค. 65) บริษัทมีรายได้จากเบี้ยประกันชีวิตรับรวม 8,365 ล้านบาท เติบโต 3% YoY โดยมีเบี้ยปีแรกจำนวน 1,202 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% และมีเบี้ยซิงเกิลพรีเมี่ยม 488 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 36% หลัก ๆ มาจากสินค้าเครดิตไลฟ์เป็นหลัก ส่วนเบี้ยประกันชีวิตรับปีต่ออายุ อยู่ที่ 6,675 ล้านบาท มีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ที่ 86%

โดยมีเบี้ยประกันรับรวมจากช่องทางตัวแทนเป็นช่องทางหลักจำนวน 6,885 ล้านบาท และสร้างการเติบโตที่โดดเด่นในช่องธนาคาร (Bancassurance) มีอัตราการเติบโตถึง 28% ขณะเดียวกัน บริษัทก็ยังใช้ความสามารถในการบริหารพอร์ตลงทุน จนสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้ถึง 5.12% (หักค่าใช้จ่ายยีลด์จะอยู่ที่ 4.8%) ส่งผลให้มีกำไรสุทธิ 1,013 ล้านบาท

เงินกองทุนแกร่ง 405.92%
และด้วยความแข็งแกร่งทางการเงินที่เชื่อถือได้ ความสามารถในการบริหารจัดการสินทรัพย์และหนี้สิน (Asset and Liability Management) และการบริหารจัดการสินทรัพย์ (Portfolio Management) การบริหารจัดการการเงินอย่างมีความรับผิดชอบ และการบริหารความเสี่ยงได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้อัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุน (Capital Adequacy Ratio : CAR) อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งสูงถึง 405.92% (ณ สิ้นเดือน ก.ค. 65) นับว่าเป็นอันดับต้น ๆ ของธุรกิจประกันชีวิต และสูงกว่าเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนดที่ 140%
“ปีนี้ถือว่าผลงานของเราทำได้ค่อนข้างดี ในภาวะเศรษฐกิจที่มีปัญหาโควิด น้ำท่วม และการปรับเปลี่ยนสินค้าประกันของภาคธุรกิจ ซึ่งมีความท้าทายกับช่องทางตัวแทนอย่างมาก แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ขี้เหร่เมื่อเทียบกับตลาด และเราโชคดีที่บางช่วงดอกเบี้ยกระเด้งขึ้น เราก็รีบออกสินค้าด้วยจำนวนจำกัดและแมตชิ่งกับการลงทุนได้เรียบร้อย” นางนุสรา กล่าว

ทยอยลดพอร์ตประกันออมทรัพย์
ปัจจุบันพอร์ตช่องทางขายแบ่งออกเป็น 3 ช่องทางหลักคือ 1.ช่องทางตัวแทน 2.ประกันกลุ่ม ประกอบด้วย ประกันชีวิต, ประกันสุขภาพ และประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคล และ 3.ธุรกิจสถาบัน ซึ่งขายสินค้าเครดิตไลฟ์คู่กับสินเชื่อของสถาบันการเงิน

โดยพอร์ตประกันกลุ่มและเครดิตไลฟ์จะเน้นสินค้าประกันความคุ้มครองชีวิต (Protection) ซึ่งไม่อ่อนไหวต่ออัตราดอกเบี้ย ในขณะที่ช่องทางตัวแทนที่เดิมเน้นขายสินค้าออมทรัพย์ซึ่งมีผลต่อดอกเบี้ย ตั้งแต่ปีที่แล้วได้เริ่มทยอยลดการขายสินค้าสะสมทรัพย์แบบการันตีไปจำนวนมาก ตอนนี้เหลือพอร์ตออมทรัพย์ไม่เกิน 40% จากเดิมที่มีกว่า 60% และหันมามุ่งเน้นการขายสินค้าคุ้มครองชีวิตและสุขภาพมากขึ้น
“เชื่อว่านโยบายการพัฒนาอย่างยั่งยืน อันเกิดจากพลังแห่งรัก และความตั้งใจที่จะร่วมกันดูแลผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน จะสะท้อนให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของธุรกิจ เพื่อเติบโตเคียงข้างสังคมไทยอย่างยั่งยืน” นางนุสรา กล่าว